นิ้วล็อค หรือ Trigger Finger
นิ้วล็อค หรือ Trigger Finger
เรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย เป็นความผิดปกติของมือที่ไม่สามารถงอหรือเหยียดได้อย่างปกติ อาจเป็นนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วโดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ต้องใช้นิ้วมือในการพิมพ์คีย์บอร์ด สมาร์ทโฟน หรือใช้ข้อมือขยับเมาส์คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ จึงมีโอกาสเป็นโรคนิ้วล็อคได้ เกิดจากการอักเสบหนาตัวของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ นิ้วจึงเกิดการล็อค ไม่สามารถกลับมายืดตรงได้ตามปกติ
สาเหตุของโรคนิ้วล็อค
การใช้งานของมือและนิ้วมือมาก ระยะเวลานาน หรือบุคคลที่ต้องทำงานโดยการกำมือแน่น ๆ เป็นประจำ จนทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว ทำให้นิ้วขยับได้ไม่ดี งอข้อนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนเดิม หรือรู้สึกเหมือนนิ้วถูกล็อคไว้
อาการนิ้วล็อคแบ่งเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือเวลาขยับ
ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการสะดุดเวลากำหรือเหยียดนิ้วมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้
ระยะที่ 3 กำมือแล้วเกิดอาการนิ้วติดล็อค ไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องใช้มือมาช่วยสามารถเอาออกได้
ระยะที่ 4 นิ้วติดล็อคจนไม่สามารถกำมือได้สุด และอาจมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย
นิ้วล็อค มีโอกาสเป็นเรื้อรังได้ไหม
นิ้วล็อค ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะเป็นเรื้อรังได้ไหม จริงๆ แล้ว คนส่วนใหญ่จะไม่เรื้อรัง ถ้าเกิดยังสามารถขยับนิ้วได้บ้าง เพราะมักจะหายเองได้ แต่ว่ากรณีที่เป็นมาก ติดล็อคเยอะๆ แล้วไม่รักษาเลย จนกลายเป็นภาวะข้อติดแข็ง ก็อาจเป็นเรื้อรังได้
การดูแลรักษาเบื้องต้นของอาการ นิ้วล็อค
- พักการใช้หรืองดทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือออกแรงหรือแบกน้ำหนักซ้ำๆ
- ประคบเย็นที่ฝ่ามือ ซึ่งช่วยให้อาการนิ้วล็อคดีขึ้นได้ นอกจากนี้การแช่น้ำอุ่นก็บรรเทาอาการให้ทุเลาลง
- หากเกิดอาการนิ้วล็อครุนแรง รักษาด้วยยาร่วมกับการกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผล อาการ ไม่ดีขึ้น อาจต้องได้รับการรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์วิธีอื่น
หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.098-851-5191 หรือ 035-249-500 กด 811